การกำกับดูแลกิจการ

หมวดที่ 6 ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม (Strengthen Effective Risk Management and Internal Control)



การบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญและเป็นเครื่องมือในการบริหารงานที่จะทำให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ดังนั้น จึงได้จัดให้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบขึ้น และพัฒนาระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณาในระดับนโยบาย ขณะเดียวกัน ยังได้มีการกำหนดประเด็นในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงไว้ใน Job Description ของทุกหน่วยงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนในองค์กรตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน ในการจัดการและควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลทบทวนความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสถานการณ์แวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ

การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน 
คณะกรรมการให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในของบริษัท จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่สอบทานระบบการควบคุมภายในและระบบตรวจสอบภายในเพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเงิน การบริหาร การดำเนินงาน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ข้อมูลทางการเงินมีความถูกต้องครบถ้วนและมีความน่าเชื่อถือ การปฏิบัติงานเป็นไปตามที่กฎหมาย ข้อบังคับระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด และบริษัทได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยใช้แนวทางการควบคุมภายใน ตามแบบที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสนอแนะและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission หรือ COSO ที่กำหนดแนวคิด Internal Control Framework มาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการควบคุมของบริษัท  โดยบริษัทได้กำหนดภาระหน้าที่ อำนาจการดำเนินการของผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน มีการควบคุมดูแลการใช้ทรัพย์สินของบริษัทให้เกิดประโยชน์ และมีการแบ่งแยกหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ติดตามควบคุมและประเมินผลออกจากกัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกันอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทยังจัดให้มีระบบการรายงานทางการเงินเสนอต่อสายงานที่รับผิดชอบ โดยคณะกรรมการบริษัทได้แสดงความเห็นต่อความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัทและบริษัทย่อยไว้ในหัวข้อ “การควบคุมภายใน”

เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การจัดทำเอกสารสำคัญและระบบการควบคุมภายในมีประสิทธิผลและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2551 บริษัทได้จัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและสอบทานระบบการปฏิบัติงานต่าง ๆ รวมทั้งการประเมินประสิทธิภาพและความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัท และบริษัทย่อยเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานหลักและกิจกรรมทางการเงินที่สำคัญของบริษัทและบริษัทย่อยได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางที่กำหนดและบรรลุตามนโยบายและวัตถุประสงค์ที่ฝ่ายบริหารได้กำหนดไว้ รวมถึงทำการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดังนั้นเพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบภายในมีความเป็นอิสระสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลได้อย่างเต็มที่ คณะกรรมการบริษัทจึงกำหนดให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ดำเนินการตรวจสอบตามแผนงานประจำปีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบโดยรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะต่อฝ่ายจัดการและคณะกรรมการตรวจสอบอย่างทันเวลาและสม่ำเสมอ